ในระยะที่ 1 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้ปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานและองค์กรภาคีในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยมุ่งเน้นครอบครัวของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งผู้นำชุมชนคือจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา และจังหวัดกระบี่ จำนวน 5 รุ่น 300 ครัวเรือน เข้ารับการฝึกอบรมศาสตร์พระราชา 5 วัน 4 คืน ในหลักสูตร “การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเครือข่ายมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติก่อตั้งโดยอาจารย์ยักษ์ ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) สำนักนายกรัฐมนตรีและเพื่อนร่วมอุดมการณ์กลุ่มหนึ่ง มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมให้ดำรงอยู่อย่างพอเพียงและอยู่รอดได้ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่ผันผวน การจัดการเรียนรู้มีลักษณะเป็นค่ายฐานการเรียนรู้แบบลงมือทำ (Learning by doing Camp) เพื่อมุ่งหมายให้ผู้เข้าอบรมสามารถทำได้ ทำเป็นจริง หลังเสร็จสิ้นการฝึกอบรม พบว่าผู้เข้าอบรมมีการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านความรู้ ความเข้าใจ ทัศนคติ รวมถึงการดำรงชีวิตแบบพึ่งตนเองอันนำไปสู่การใช้ชีวิตแบบพอเพียงได้จริง อาทิ การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ การห่มดิน การทำปุ๋ยชีวภาพ การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ การทำน้ำยาอเนกประสงค์ การทำแชมพู และสบู่สมุนไพร ยาดมสมุนไพร การทำน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น การเผาถ่าน และน้ำส้มควันไม้ การทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น
ผลจากการฝึกอบรมสามารถพัฒนาบุคลากรให้เป็นผู้นำศาสตร์พระราชาไปปฏิบัติให้เกิดผล มีการลดรายจ่ายในครัวเรือน และนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ต่อในชุมชนและคนรุ่นใหม่ได้
ในระยะที่ 2 มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จึงได้สนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์กสิกรรมธรรมชาติอันดามัน เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ศาสตร์พระราชา และจัดพื้นที่ให้สามารถฝึกฝนพัฒนาทักษะผ่านการลงมือปฏิบัติจริง และให้ผู้นำที่ผ่านการฝึกอบรมระยะที่ 1 พัฒนาศักยภาพเป็นจิตอาสา พี่เลี้ยง และครู พาทำจนสามารถให้การฝึกอบรมประชาชนในหลักสูตร “การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง” จำนวน 63 คน ระหว่างวันที่ 25 - 27 มีนาคม 2562