มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ตได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีส่งเสริมอาชีพเพาะเห็ดอินทรีย์และการแปรรูป โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นฐานบนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่ดังกล่าว ทำให้กลุ่มชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 32 คณะทำงานยังได้ดำเนินงานถ่ายทอดเทคโนโลยีเพิ่มเติมตามคำร้องขอและความต้องการของชุมชน จำนวน 2 เรื่อง คือ
1. การผลิตก๊าซชีวภาพ จากมูลสัตว์และเศษอาหาร เพื่อลดรายจ่าย แก่สมาชิกกลุ่มชุมชน
2. การแปรรูปเปลือกมังคุด เป็นผลิตภัณฑ์อุปโภค เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้
ลักษณะของชุมชนนี้ คือ “ตลาดลองแล” เป็นตลาดประชารัฐ ตลาดทางเลือก ตลาดแห่งอาชีพและตลาดแห่งโอกาสของประชาชนในท้องถิ่นที่จะร่วมกันสร้างงาน เพิ่มรายได้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากในท้องถิ่น โดยการนำสินค้าการเกษตรพื้นถิ่น สินค้าอุปโภค บริโภค ผักปลอดสารพิษมาจำหน่ายให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว โดยมีจุดเน้นด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างจากแหล่งอื่น คณะทำงานจึงได้ร่วมกับกลุ่มชุมชน พัฒนาเครื่องอัดขึ้นรูปภาชนะใส่อาหารจากใบตอง ด้วยการวิจัยและพัฒนา มีเป้าหมายเพื่อลดภาชนะบรรจุอาหารจากโฟมและพลาสติก ผลการวิจัยพบว่า สามารถประยุกต์หลักทฤษฎีเชิงวิชาการในรายวิชาวัสดุอุตสาหกรรมและคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบ บูรณาการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และได้สร้างเครื่องต้นแบบเป็นเครื่องอัดขึ้นรูปภาชนะใส่อาหารจากใบตอง เน้นการทำงานและมีกลไกแบบง่าย ราคาถูก ใช้งานง่ายและปลอดภัย สามารถผลิตถ้วยใบตองครั้งละ 1 ใบ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร มีความลึก 4.5 เซนติเมตร ต้นทุนประมาณ 0.35 บาท เวลาที่ใช้ 1.20 นาที ผลงานดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ใช้งานและจากหน่วยงานภาครัฐของจังหวัดพังงาและได้นำผลงานดังกล่าว จดอนุสิทธิบัตรในแง่มุมด้านการศึกษา เกิดการขยายผลและความเชื่อมโยงไปยังสถานศึกษาในละแวกชุมชน คือ การพัฒนาหลักสูตรอาชีพในรูปแบบเสริมการเรียนรู้แก่นักเรียนในโรงเรียนบ้านกะไหล เช่น หลักสูตรการเพาะเห็ด การแปรรูปเห็ด การเลี้ยงไส้เดือนดิน เป็นต้น