จากปัญหาภัยธรรมชาติ ภัยแล้งในบางพื้นที่เนื่องจากการเปลี่ยนทางน้ำจากการใช้ที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เกิดการชะล้างพังทลายของหน้าดิน หรือเกิดการเปลี่ยนทางน้ำจนทำให้เกิดภัยแล้งในบางส่วนของชุมชนบ้านรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา กลุ่มชุมชนฯ จึงได้ร่วมแก้ปัญหาด้วยการปลูกป่าทดแทนเพื่ออนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า 10 ปีต่อมา พื้นที่ดังกล่าวเกิดเป็นป่าไม้ผืนใหญ่ที่คอยคุ้มกันภัยธรรมชาติที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับเยาวชนและบุคคลทั่วไปในรูปแบบธนาคารต้นไม้ รวมทั้งร่วมกันสร้างกติกาการตัดไม้ในชุมชนและการปลูกทดแทนอย่างจริงจังมากขึ้น ต่อมาเมื่อราคายางพาราที่เป็นอาชีพหลักของชุมชนที่เคยมีราคาดี มีปริมาณความต้องการสูงกลับมีราคาตกต่ำลง ทำให้รายได้ของชุมชนที่ประกอบอาชีพชาวสวนยางพาราลดลง กลายเป็นปัญหาใหม่และเป็นปัญหาใหญ่ของชุมชนที่ต้องร่วมกันหาทางแก้ไข ทั้งนี้ชุมชนได้นำสภาพปัญหาและความต้องการมาวิเคราะห์ศักยภาพและบริบททุนชุมชนเพื่อหาแนวทางการสร้างงาน และเสริมอาชีพร่วมกับคณะทำงานมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต บุคลากรของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ พบว่า กล้วยน้ำว้า ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากจะนำมาบริโภคในครัวเรือนและจำหน่ายทั่วไปแก่ฟาร์มช้างหรือผู้เลี้ยงสัตว์แล้ว ยังมีปริมาณมาก ถ้าหากนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน สามารถนำมาสู่การพัฒนาธุรกิจของชุมชนเพื่อเสริมความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจฐานรากให้กับชุมชนและยังเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกอีกทางหนึ่ง
คณะทำงานฯ ได้ร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมปฏิบัติการ ร่วมประเมินผล และร่วมรับผลประโยชน์กับสมาชิกชุมชนฯ เพื่อดำเนินงานแปรรูปกล้วยน้ำว้า เช่น น้ำปลีกล้วย กล้วยแท่งอบกรอบ แป้งกล้วย สบู่กล้วย ไซรัปกล้วย น้ำหมักจุลินทรีย์จากหน่อกล้วย เป็นต้น ผลผลิตดังกล่าวได้นำมาจำหน่าย และได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้ชุมชนมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ผลการดำเนินงานที่เด่นชัด นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นแล้วยังทำให้กลุ่มชุมชนเข้าใจและสามารถประยุกต์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมที่จะมาขับเคลื่อนกลุ่ม ขณะเดียวกันชุมชน และคณะทำงานมีความเห็นร่วมกันที่จะผลักดันให้มีห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ห้องแปรรูปผลิตภัณฑ์เวชสำอางจากผลิตภัณฑ์พืชผักในท้องถิ่นที่มีมาตรฐานรองรับในอนาคตและเชื่อมโยงอัตลักษณ์ในพื้นถิ่น ซึ่งขณะนี้ได้ร่วมกันวางแผนงานขับเคลื่อนเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในแผนธุรกิจชุมชน อย่างไรก็ตามการดำเนินงานดังกล่าวในข้างต้นสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของชุมชนบ้านรมณีย์ หมู่ที่ 1 ตำบลรมณีย์ อำเภอกะปง จังหวัดพังงา กล่าวคือ “รมณีย์ สามัคคี ปลอดหนี้สิน สิ้นอบายมุข มีความสุข อยู่ดีกินดี มีการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ”
ผลลัพธ์
รายได้ในชุมชนเพิ่มขึ้น และยังทำให้กลุ่มชุมชนเข้าใจและสามารถประยุกต์ความรู้ในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรวมถึงนวัตกรรมที่จะมาขับเคลื่อนกลุ่มได้